Warning: Undefined array key "action" in /var/www/wp-content/themes/kicker-child/functions.php on line 2
กล้า ตั้งสุวรรณ Work-Life Integration เลี้ยงลูกอย่างไรให้ชีวิตสมดุล
X

กล้า ตั้งสุวรรณ Work-Life Integration เลี้ยงลูกอย่างไรให้ชีวิตสมดุล

ว่ากันว่า การมีลูกทำให้ชีวิตเปลี่ยน วันนี้ Mother and Care ชวน “กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท  ไวซ์ไซท์ จำกัด มาพูดคุยถึงชีวิตอีกด้านหนึ่งที่น้อยคนนักจะได้เห็น เขาไม่ใช่เพียงพี่กล้าที่น้องๆ เรียกหา คุณกล้าที่ลูกค้าขอคำปรึกษา แต่เขามีอีกบทบาทที่ทำให้ชีวิตของผู้ชายคนนี้ไม่เหมือนเดิม “คุณพ่อกล้าของน้องนลิน”

บทบาทการเป็นคุณพ่อทำให้ชีวิตของคุณกล้าเปลี่ยนไหม เปลี่ยนไปอย่างไร

“เปลี่ยนครับ ชีวิตเปลี่ยน แต่ไม่ใช่อุปสรรค หน้าที่ของเราคือ รักษาสมดุล ให้มันได้ สมดุลคือ เราอาจจะไม่ได้แยกว่านี่คือบ้าน นี่คือทำงาน คนทำงานส่วนใหญ่พยายามแยกงานออกจากชีวิตออกจากกัน แต่สำหรับองค์กรเรา ผมเรียกว่า Work Life Integration หลังโต๊ะทำงานมีเตียงเด็ก ของเล่นลูกอยู่ตรงนั้น เพราะทั้งหมดนี้คือชีวิตผม ผมมีงาน แต่ผมก็มีลูก และเราไม่อยากให้ลูกเลิกเรียนบ่ายสองแล้วรอพ่อกลับตอนสามทุ่ม ซึ่งลูกก็หลับแล้ว  นอกจากนั้น ยังเปลี่ยนวิธีคิด พอมีลูกก็เหมือนเป็น Life Long Commitment เป็นหัวหน้า เป็นซีอีโอลาออกได้ แต่การเป็นพ่อลาออกไม่ได้  มีลูกแฮปปี้แต่ถามว่าหนักไหมก็ต้องบอกว่าหนัก มันมีด้านดี ถ้าเรามองทุกอย่างเป็นปัญหามันก็แย่ไปหมด เวลาไปรับลูกที่โรงเรียน พ่อแม่ทุกคนยิ้มออกหมด เวลาลูกสำเร็จเราก็ยิ้ม อาจจะไม่ได้ โฟกัสไปที่ปลายทางแต่เรื่องราวในเส้นทางที่เขาเดินต่างหากที่มีค่า สนุกกับวันนี้ไหม วันนี้ได้เรียนอะไรบ้าง ลูกบอกว่า วันนี้กระโดดจนล้มที่โรงเรียนเลือดกำเดาไหล เมื่อก่อนคงคิดว่า เราต้องไปถามคุณครู เกิดอะไรขึ้น ทำไมลูกเราเป็นแบบนี้ แต่เอาจริงๆ มันเปลี่ยนวิธีคิดไปว่า ในชีวิตคนเราสักครั้ง เด็กก็ต้องเลือดกำเดาไหล มันเป็นอุบัติเหตุ ถ้ากระโดดแล้วก็มีโอกาสพลาด ล้ม แบบนี้เป็นต้น”

ทำหน้าที่ผู้บริหาร แบ่งเวลาในการดูแลงาน ดูแลครอบครัวอย่างไร

“บางครั้งมันคือการจัดการ ความคาดหวังของคนในทุกๆ ด้าน ในฐานะซีอีโอคือจัดการความคาดหวังของน้องๆ ว่าจะมี Career Path ที่ดีหรือเปล่า หรืออย่างนักลงทุนกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของ เขาต้องการทำกำไร ต้องการ Growth ในบริษัทเท่าไหร่ จัดการความคาดหวังของลูกค้า ว่า Road Map ที่วางให้เขา  เรายังเป็นบริษัทที่ลูกค้าฝากผีฝากไข้อยู่ได้หรือเปล่า งานของที่บ้านก็เหมือนกัน ความคาดหวังของภรรยาด้วยว่าเราเป็นสามีที่ดีหรือเปล่า เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่หรือเปล่า เหมือนเพิ่มบทบาทตัวละครอีกตัวมากกว่าก็ปรับให้เหมาะสมกับบริบท หลายๆ อย่างผมก็เรียนรู้จากการที่ต้องเลี้ยงลูก สมมติว่าบอกว่า คอยพ่อก่อน พ่อต้องประชุม เค้าก็วิ่งเล่นอยู่ข้างนอก เด็กรู้เรื่องตั้งแต่ขวบหนึ่งแล้วเพียงแต่เขาพูดยังไม่ได้ ปัญหาของเราคือ เราต่างหากที่ไม่ฟังเขา เนื่องจากเขาไมได้พูดภาษาผู้ใหญ่ แต่ถ้าเราตั้งใจฟังเขา เราจะรู้ว่าเขาหมายความว่าอะไร พอเราเข้าใจเขา ปัญหาก็ไม่เกิด จริงๆ ไม่ใช่กับเด็ก แต่กับทุกคน ถ้าเราสื่อสาร เคลียร์ ชัดเข้าใจ ปัญหาไม่เกิด”

ลูกน้อง กับ ลูก เหมือนกันตรงไหนบ้าง ต่างกันตรงไหนบ้าง

 “มันมีคอนเซ็ปตที่เหมือนกันอยู่แล้ว หลักๆ ที่ไม่เหมือนคือ ลูกน้องโตกว่า เราดูแลเขาหนึ่งในสามของชีวิต นี่ วันนึงมี 24 ชั่วโมง เราดูแล 8 ชั่วโมง คนเราสมัครงาน เพราะความท้าทาย คนเราลาออกเพราะหัวหน้า การเป็นหัวหน้าที่ดีไม่ควรเป็นแค่หัวหน้าที่ดีในเวลางาน ควรเป็นหัวหน้าที่ดีนอกเวลางานด้วย น้องๆ รุ่นใหม่ต้องการไกด์ในการที่เค้าจะเติบโตในหน้าที่การงาน ดังนั้นเขาเลยอยากได้หัวหน้าที่ดี ถ้าเค้าเจอหัวหน้าที่ไม่คอยไกด์ให้เขา ก็ไม่ค่อยมีลูกน้องคนไหนอยากอยู่ อันนี้คือเรื่องปกติ พอเป็นลูก คอนเซ็ปต์เดิมแต่เราดูแลเพิ่มขึ้น เป็นดูแลทั้งชีวิต Life Long Commitment ถ้าโดยเรียกว่าสิ่งที่เรียกว่า Input เข้าไปคือสามเท่าหรือ 24 ชั่วโมงต่อวัน เหมือนกันคือเค้าต้องการคนไกด์ เค้าก็เรียนจากการเรียนรู้การดูตัวอย่าง เราอยากให้ลูกทำตัวแบบไหนเราก็ทำตัวแบบนั้น เราไม่อยากให้ลูกพูดคำหยาบ เราก็ไม่พูดคำหยาบ เราอยากให้ลูกไหว้พ่อแม่ เราก็ต้องไหว้พ่อแม่ เราอยากให้ลูกน้องขยันขันแข็ง เราก็ต้องขยัน เราอยากให้ลูกน้องพูดดีกว่าเรา เราก็ต้องพูดดีกับลูกน้อง ผมมองว่าคอนเซ็ปต์เป็นเรื่องเดียวกัน อยากให้ลูกน้องเคารพเรา เราเคารพเค้าหรือเปล่า เราเลยมองว่า มีเรื่องที่เหมือนและไม่เหมือน แต่มีหลายอย่างที่ใช้กันได้

ในคอนเซ็ปต์การทำงาน เลี้ยงลูก เลี้ยงลูกน้อง เราเป็นโค้ช โค้ชไม่ลงไม่เตะบอลกับนักกีฬา เค้ายืนอยู่ข้างๆ แล้วคอยลุ้น ถ้านักเตะเตะแพ้ พูดว่า ไม่เป็นไร เอาใหม่ เดี๋ยวกลับมาซ้อมเพิ่ม แต่ถ้าเราทำตัวเป็นคนดู จะเจอประโยคนี้เลย ทำไม  ซึ่งจะกลายเป็นว่าบทบาทที่เราทำ ไม่แสดงว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา แต่จริงๆ เราต้องทำให้เขารู้ว่าเราคือทีมเดียวกัน นี่คือคอนเซ็ปต์ทั้งที่บ้านและที่นี่”

ปณิธานในการเป็นคุณพ่อหรือการวางแผนให้กับลูก

“ต้องบอกว่าไม่มีขนาดนั้น แต่ผมมองว่า เด็กในสมัยนี้ เขาควรจะเป็น  Citizen of the World เป็นประชากรของโลกนี้ไม่ใช่แค่ประชากรในประเทศไทย ต้องเปิดให้ลูกเห็นว่า โลกมันกว้างมาก โลกมันใหญ่กว่าแค่ลาดพร้าว ติวานนท์ เขาก็จะมีโอกาสได้เห็นกว้างขึ้น ผมเจอคำถามเยอะมากว่า อยากให้ลูกโตขึ้นเป็นอะไร จริงๆ แล้วอีกยี่สิบปีข้างหน้าจะมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นและอาชีพที่สูญพันธุ์มากมาย เราแค่เตรียมความพร้อมให้เขา ทำให้เขาเลือกอาชีพที่สร้างคุณประโยชน์ให้สังคม อย่าเป็นคนรับอย่างเดียว เขามีอิสระในการเลือก แค่หาตัวตนของเขาให้เจอ แล้วแฮปปี้กับชีวิตนะ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่มันจะมีอาชีพที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าเดือดร้อนก็ต้องชดเชยให้เขานะ ไม่ถึงกับมีพันธกิจ แต่ก็คือสอนลูก

แล้วจริงๆ วางแผนให้ลูกไหม ไม่มีครับ ไม่มีเลย วางแผนอะไรเกินสามปีก็เปลี่ยนอยู่ดี วิชาการไม่ต้องมาก่อน เขาดูแลตัวเองได้ต้องมาก่อน ใช้มีด ใช้กรรไกร ใช้ปากกา ยังไง ดื่มน้ำ กินข้าว อาบน้ำ ใส่กางเกง มีปัญหาพูดจารู้เรื่องไหม หาความรู้ได้เองไหม 1+1 = 2 มาทีหลัง เขาต้องรู้ว่านี่คือไส้เดือนจับได้ นี่คือตะขาบจับไม่ได้ ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกว่า”

แนวคิดหลักในการเลี้ยงลูก

“แนวคิดสำคัญๆ ที่ผมตั้งไว้มีสามสี่เรื่อง แต่เป็นเรื่องที่ผมล้อมาจากขององค์กรสหประชาชาติคือทักษะของเด็กในทศวรรษหน้า หนึ่ง คิดแยกแยะออก สอง สื่อสารรู้เรื่อง และสามค้นหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานคนที่จะอยู่รอดได้ มีคนบอกว่าลูกเราควรไปเรียนอินเตอร์เลยไหม ให้ได้สี่ภาษา แปดภาษา เอาจริงๆ ก็แล้วแต่นะ ช่องว่างระหว่างภาษามันจะแคบลง โลกมันเปลี่ยน ภาษาสำคัญ แต่สำคัญกว่าภาษาคือสื่อสารกันให้รู้เรื่องมากกว่า สื่อสารยังไงไม่ให้เจ็บปวด สงครามก็เกิดจากปากคน ที่เราทะเลาะกันก็เพราะแบบนี้  Communication สำคัญมาก ฟีดแบคงานน้องยังไงไม่ให้ทำร้ายเขา ไม่ให้เกิดความรุนแรง  ทำงานมาเหนื่อย โดนเราคอนเมนต์ไปหมดไฟกว่าเดิม เราก็สอนลูกให้มีทักษะพวกนี้ ที่เหลือเขาต้องกลับมาสอนเรา เพราะวิทยาการต่างๆ สอนให้เขาเก่งกว่าเรา”

ในการเลี้ยงลูก กังวลหรือกลัวอะไรไหม

“อย่าเรียกว่ากังวล เรียกว่าเราเตรียมตัวให้พร้อมกับอะไรที่มันจะเข้ามา แล้วมอง Positive Side ผมเชื่อว่าในทุกความโกลาหลมีโอกาสใหม่ๆ ทุกปัญหาคือการเรียนรู้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เราซื้อโมเดลรูปสัตว์ให้ลูก น้องในออฟฟิส เอาตัวนึงมาสอน แทนที่จะสอนว่านี่คือไฮยีน่า กลับสอนว่าตัวนี้ชื่อเอนะ เป็นการล้อเพื่อนในออฟฟิศ ลูกเราก็จำ พอกลับบ้าน เราบอกว่าตัวนี้คือไฮยีน่า ลูกบอกว่าไม่ใช่ นี่คือเอ แทนที่จะโทษน้องที่ออฟฟิศทำให้เรามองอีกมุมหนึ่งว่า เด็กต้องมีทักษะอีกข้อหนึ่งที่สำคัญมากนั่นคือ Relearn คือ ถอดออกแล้วเรียนรู้ใหม่ เด็ก Relearn ได้เร็วกว่า ผู้ใหญ่ถอนความเชื่อยาก น้องเขาสอนลูกผมไปชั่วโมงนึง ผมใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ แล้วคิดว่าที่โรงเรียนจะไม่โดนอย่างนี้เหรอ ก็ต้องโดน ถ้าเขาไปเรียนอะไรที่ผิดมา เราก็สอนใหม่ได้ แค่นั้นเอง”

รับมือกับโซเชี่ยล เทรนด์ เทคโนโลยี ในเรื่องการดูแลลูกอย่างไร 

“พฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนอยู่แล้ว เด็กที่เกิดมา เราต้องใช้เทคโนโลยี การที่เราบอกว่าจะปิดกั้นเทคโนโลยีจากลูกไปเลย คงไม่ถูกต้อง แต่ห้ามเอาเทคโนโลยีไปเป็นเพื่อนเด็ก แล้วให้เด็กไม่ยุ่งกับเรา อย่างนี้คือไม่ถูก ผมมองว่า ใช้โดยไม่สอนอันนี้อันตราย เราใช้เทคโนโลยีเป็นของเล่น แล้วเราเล่นกับเขาด้วย แล้วจริงๆ ก็มีฟีเจอร์มากมายที่เป็นตัวช่วยคุณพ่อคุณแม่ เช่น Parent Control ใช้ให้เป็นประโยชน์ พ่อแม่ควรศึกษาจะได้ช่วยเรากรองไม่ให้มีคลิปหรือเนื้อหาที่เด็กไม่ควรดู ที่สำคัญ ควรควบคุมเป็นเวลา เทคโนโลยีมีสองด้านอยู่แล้ว ใช้ให้เป็นประโยชน์”

สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้เทคโนโลยี

จริงๆ เทคโนโลยีจะทำให้เรามีเวลามากขึ้น เพราะเวลาเป็นสิ่งที่แพงที่สุดของมวลมนุษยชาติ ถ้าเราใช้เทคโลยีแล้วเวลาไม่ได้มากขึ้น ถือว่ามีปัญหา แล้วอย่าไปทำงานเพื่อเทคโนโลยี ให้เทคโนโลยีทำงานแทนเรา เอาเวลาไปทำอย่างอื่น เอาเวลาไปอยู่กับลูก เล่นกับลูก เลี้ยงลูก แต่อย่าเอาเทคโนโลยีอ่านนิทานให้ลูกฟัง การอ่านนิทานเป็นการสร้างสัมพันธ์พ่อแม่ลูก ไปทำงานไกลๆ คิดถึงก็วิดีโอคอล ชีวิตมันง่ายขึ้น มันอยู่ที่เราเอง เลือกใช้ให้มันถูก เราต้องรู้ก่อนว่าเราอยากได้อะไร เราอยากแก้ปัญหาอะไรในชีวิต เทคโนโลยีช่วยได้ไหม ก็ลองประเมินดู ถ้าไม่เวิร์กก็ต้องทิ้ง ต้อง Let go มีหลายชิ้นที่ผมต้องทิ้ง ต้องยอมรับว่า นี่ขนาดคนใช้เทคโนโลยียังพลาดได้”

สิ่งที่อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่

“สิ่งที่ต้องโฟกัสจริงๆ ผมมองว่า หนึ่งคือความสมดุล แต่การจะมีความสมดุลได้ ต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ได้ คำว่าไม่มีเวลาไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ดังนั้นข้อสองคือ การเรียงลำดับความสำคัญ และสามหา ตัวช่วยให้ถูกทาง แบ่งเบางานเราเพื่อให้เรามีเวลาไปดูแลครอบครัว แน่นอนว่าเราต้องมีเงินแค่อย่าลืมว่ามีคนทำงานแทนเราได้ มีอุปกรณ์ที่ทำแทนเราได้ แต่ไม่มีใครเลี้ยงลูกแทนเราได้ อย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น การมีลูกเป็น Life Long Commitment ซึ่งเหนื่อยแต่ก็สนุก ได้เรียนรู้แล้วก็เป็นความท้าทายของพ่อแม่ยุคใหม่ ทำให้เราโตขึ้นด้วย คนที่แต่งงานมีลูก ชีวิตก็สมบูรณ์ขึ้น”

Categories: INTERVIEW
Mother & Care: