Warning: Undefined array key "action" in /var/www/wp-content/themes/kicker-child/functions.php on line 2
เล่นรูบิคมีประโยชน์ต่อลูกน้อยอย่างไร
X

เล่นรูบิคมีประโยชน์ต่อลูกน้อยอย่างไร

รูบิคถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1974 โดย Erno Rubik ศาสตราจารย์และสถาปนิกชาวฮังการี วัตถุประสงค์แรกคือการสร้างอุปกรณ์ที่ช่วยให้เด็กวัยเรียนเข้าใจโครงสร้างของวัตถุที่มีมิติต่าง ๆ โดยไม่คาดคิดว่าเจ้าลูกบาศก์มหัศจรรย์จะกลายเป็นของเล่นลับสมองที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย จนถึงขั้นมีการจัดการแข่งขันระดับโลก รูบิคหนึ่งลูกสามารถจัดเรียงสลับสีกันไปมาได้มากถึง 43 ล้านล้านล้านรูปแบบ (Quintillion) เกมนี้จึงมีความซับซ้อนและต้องใช้หลากหลายทักษะประกอบกัน จึงมีประโยชน์สำหรับเด็กๆ  หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เองด้วย

1. ช่วยพัฒนาความสามารถในการจดจำ
ในการไขปริศนาเพื่อหมุนสลับให้รูบิคทั้ง 6 ด้านเรียงสีอย่างถูกต้อง เด็กๆ จะต้องจดจำการเคลื่อนไหวของสี่เหลี่ยมสีสันสดใสแต่ละชิ้น ซึ่งในระหว่างนั้นสมองจะเปิดใช้งานระบบหน่วยความจำและความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล

2. ฝึกทักษะการวิเคราะห์
เด็กๆ จะต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์ในระหว่างที่ค้นหาวิธีแก้ปัญหา อย่างที่บอกไปข้างต้นว่ารูบิคสามารถเรียงสลับกันได้ประมาณ 43 ล้านล้านล้านรูปแบบ จึงเป็นเกมที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ ในแง่ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างส่วนต่าง ๆ ของวัตถุ

3. ฝึกสมาธิและความอดทน
เซียนระดับโลกสามารถแก้ปริศนาของรูบิคได้ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่สำหรับมือใหม่นับว่าเป็นเกมที่ค่อนข้างยากและต้องใช้เวลามาก การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเกมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักสำคัญในการเคลียร์รูบิคให้สำเร็จ เด็กที่เล่นรูบิคเป็นประจำจึงได้ฝึกสมาธิและความอดทนไปในตัว 

4. ความคิดสร้างสรรค์ 
รูบิคเป็นเกมที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้เล่นหาทางออก ซึ่งเราสามารถใช้วิธีการเล่นที่หลากหลายเพื่อเอาชนะปริศนาตรงหน้า หากวิธีแรกไม่สำเร็จก็ต้องทดลองหาวิธีใหม่ไปเรื่อยๆ ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ จึงพัฒนาขึ้นในระหว่างพยายามสร้างวิธีที่แตกต่างเพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จ

เกมรูบิคมีประโยชน์มากมายเทียบเท่ากับการเล่นหมากรุก แต่มีขนาดเล็กและพกพาได้สะดวกกว่า สามารถนำติดตัวไปเล่นได้ทุกที่ มันจึงเป็นของเล่นที่ขายดีที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันมีการออกแบบรูบิครูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะแก่การฝึกพัฒนาการสำหรับเด็ก เช่น รูบิคทรงปิรามิด ทรงกลม ทรงปริซึม รวมถึงมีรูบิคที่ลดทอนขนาดให้เหลือด้านละสี่ช่อง เพื่อให้เด็กเล็กเอาชนะเกมได้ง่ายขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถร่วมเล่นสนุกไปกับลูกๆ ได้    

Categories: Knowledge
motherandcare:
Related Post