Warning: Undefined array key "action" in /var/www/wp-content/themes/kicker-child/functions.php on line 2
ช่วยให้ลูกมีความคิดเชิงบวก
X

ช่วยให้ลูกมีความคิดเชิงบวก

พ่อแม่ทุกคนย่อมปรารถนาให้ลูกมีความสุขและประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งสิ้น ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยก็คือการส่งเสริมให้ลูกมีความคิดเชิงบวก ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดอีกหลายคุณลักษณะในตัวเด็ก ทั้งความมั่นใจในตัวเอง ความรู้สึกไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งมนุษยสัมพันธ์และความมีเสน่ห์ในตนเอง แล้วพ่อแม่จะช่วยลูกได้อย่างไร

ใช้ภาษาเชิงบวก

บ่อยครั้งที่พ่อแม่ชินกับการใช้ คำสั่งห้าม หรือการพูดตำหนิ ต่อว่าลูก นั่นถือเป็นการตอกย้ำ กับความคิดหรือพฤติกรรมเชิงลบ เช่น “ทำไมถึงสะเพร่าอย่างนี้” “อย่าเกเร และดื้อกับคุณตาคุณยายนะลูก” “อย่ากระโดดเป็นลิงเป็นค่างอย่างนี้” “ทำไมถึงขี้เกียจกันจริง” ตัวอย่างเหล่านี้มักเกิดขึ้นจากความผิดหวังหรือไม่พอใจของพ่อแม่ แต่การพูดเชิงลบเช่นนั้น นอกจากโอกาสที่ลูกจะเชื่อฟังหรือ ทำตามน้อยแล้ว ยังอาจส่งผลในเชิงลบต่อตัวลูกคือลูกเชื่อว่าตนเองเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะพ่อแม่ ที่เขารัก บอกเขาหรือตอกย้ำเสมอว่าเขามีลักษณะเช่นนั้น นอกจากนั้นแล้วในเด็กบางคนที่พ่อแม่ไม่ใคร่ใส่ใจในเชิงบวกนัก ลูกอาจทำพฤติกรรมเชิงลบเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือในเด็กบางราย อาจค่อย ๆ พัฒนาเป็นลักษณะการต่อต้านและทำในสิ่งที่พ่อแม่ไม่ประสงค์ในที่สุด

พ่อแม่คงต้องหันมาพิจารณาตนเองในแต่ละสถานการณ์ก่อนว่าเราต้องการอะไรจากลูก แล้วพูดในสิ่งที่อยากเห็นหรือต้องการจากลูกแทน เช่น จากตัวอย่างข้างต้นแทนที่จะพูดว่า “ทำไมถึงสะเพร่าอย่างนี้” พ่อแม่อาจพูดว่า “ตรวจทานหลังทำเสร็จด้วยนะลูก” และแทนที่จะพูดว่า “อย่าเกเร และดื้อกับคุณตาคุณยายนะลูก” พ่อแม่อาจพูดว่า “เชื่อฟังคุณตาคุณยายนะลูก” เป็นต้น อย่างไรก็ตามในบางโอกาสพ่อแม่อาจใช้การพูดโดยใช้ ‘I-message’ เมื่อพ่อแม่เกิดความรู้สึกเชิงลบ หรือเมื่อพิจารณาแล้วว่าลูกไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอะไรของลูกเองแต่สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของพ่อแม่และเป็นปัญหาของพ่อแม่เองมากกว่า เช่น “แม่รู้สึกหงุดหงิดที่เห็นของเล่นทิ้งเกลื่อนบนพื้นเพราะแม่อาจสะดุดล้มลงได้” “แม่รู้สึกกังวลที่สี่ทุ่มแล้วลูกยังไม่นอน เพราะถ้าลูกนอนดึก ลูกก็ตื่นสายแล้วพลอยให้แม่ต้องไปทำงานสายด้วย” (เพราะแม่ต้องขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียนก่อนไปทำงาน)

จากทั้งสองตัวอย่างแม่เลือกที่จะใช้ ‘I-message’ แทนที่จะใช้ ‘You-message’ โดยการตำหนิที่ตัวลูกโดยตรง แม่ หันมาใช้ ‘I-message’ แทน โดยบอกความรู้สึกของตัวเอง ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่โดยตรง ทั้งการบอกสิ่งที่พ่อแม่ต้องการโดยตรง และการใช้ ‘I-message’ เป็นทางเลือกในการใช้ภาษาเชิงบวก ซึ่งหากพ่อแม่ไม่เคยชินก็คงต้องฝึกฝน พ่อแม่หลายรายที่ตั้งใจจริง อาจลองใช้การบันทึกในแต่ละวันว่าเผลอใช้คำพูดเชิงลบกับลูกอะไรไปบ้าง และหากเปลี่ยนได้จะเปลี่ยนเป็นอย่างไร บอกสิ่งที่พ่อแม่ต้องการโดยตรง หรือ ‘I-message’ อย่างไหนเข้าท่ากว่ากัน

การชมเชย

การชมเชยลูก นอกจากจะช่วยให้ลูกรู้สึกดีแล้ว ลูกยังสามารถมองตนเองในแง่บวกอีกด้วย การชมที่มีประสิทธิภาพ พ่อแม่ควรบอกพฤติกรรมที่ดีของลูก บอกความรู้สึกที่ดีของพ่อแม่ ร่วมกับภาษากายของพ่อแม่ที่สอดคล้องร่วมด้วย แต่ควรอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องเพียงเล็กน้อยหรือลูกทำได้อย่างง่ายดายอยู่แล้วแต่พ่อแม่ก็ชมเสียเลิศลอย ตัวอย่างเช่น พลอย เด็กหญิงวัย ๕ ขวบ เป็นเด็กขี้อายและปรับตัวยาก แต่ได้รับการสนับสนุนจากคุณครูให้ขึ้นร้องเพลงและแสดงร่วมกับเพื่อน ๆ บนเวทีเป็นครั้งแรก ในเช้าวันหนึ่งเมื่อการแสดงเสร็จสิ้นและพลอยลงจากเวที คุณแม่พูดกับพลอยว่า “แม่ภูมิใจมากเลย ลูกขึ้นเวทีและสามารถร้องเพลงได้ เยี่ยมมากลูก” สำหรับเด็กคนอื่นอาจเป็นเรื่องธรรมดาแต่สำหรับพลอยนี่คือความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ ในแต่ละวันพ่อแม่ควรพิจารณาตนเองด้วยว่ามีการชมเชยลูกหรือไม่ อย่างไร

การใช้จินตนาการ

เด็ก ๆ มักมีความสามารถทางจินตนาการได้ดีกว่าผู้ใหญ่ หากพ่อแม่สามารถนำศักยภาพนี้มาใช้จะมีส่วนช่วย ทำให้ลูกมีพลังและความเชื่อเชิงบวกกับตนเองมากขึ้น อาจพิจารณาใช้เมื่อลูกมีเป้าหมายบางอย่าง เช่น ลูกจะต้องแสดง แข่งขันหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ พ่อแม่พูดคุยและตั้งเป้าหมายเชิงบวกที่เป็นไปได้กับลูก โดยให้ลูกหลับตา ตั้งสติและสร้างจินตภาพ (guided imagery, visualization) โดยพยายามให้ลูกเห็นผลลัพธ์ เชิงบวกที่เป็นไปได้และเกี่ยวข้องกับตนเองเป็นหลัก ไม่ใช่ลูกไปวิ่งแข่งมินิมาราธอนเป็นครั้งแรก แต่ให้ลูกสร้างจินตภาพว่าเขาวิ่งชนะเลิศ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งซ้อมได้เพียงสัปดาห์เดียว จินตภาพที่เหมาะสมก็คือ เขาสามารถหลับตามองเห็นตนเองตั้งใจวิ่งอย่างเต็มที่และมีความสุข พ่อแม่สามารถช่วยลูกสร้างจินตภาพกับเป้าหมายต่าง ๆ ได้ โดยช่วยพูดชี้แนะ เริ่มจากให้ลูกหายใจเข้าออกอย่างผ่อนคลาย แล้วค่อยใช้จินตนาการโดยคำนึงถึงประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ให้ลูกรู้สึกใกล้เคียงกับความจริงให้มากที่สุด ยิ่งทำได้เสมือนจริงมากเท่าไร ก็มีโอกาสเป็นจริงและตอกย้ำอารมณ์และความคิดเชิงบวกได้มากเท่านั้น

การตอกย้ำสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น

ในแต่ละวันพ่อแม่ลูกควรพูดถึงสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น ในบางครอบครัวอาจใช้เวลาอาหาร พูดถึงสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันกับแต่ละคน ๕ อย่าง หรือ ๑๐ อย่าง สลับกันไประหว่างพ่อแม่ลูก โดยพยายามทำให้เป็นเรื่องที่น่าประทับใจ น่าชื่นชม แต่เป็นไปด้วยความสนุกสนาน ในบางครอบครัวอาจเป็นเวลาก่อนนอน หรือในบางครอบครัวอาจเป็นเฉพาะวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาก็ได้

การเป็นตัวอย่าง

เด็ก ๆ เรียนรู้และซึมซับจากตัวอย่าง รอบตัวเป็นสำคัญ หากพ่อแม่พยายามส่งเสริมความคิดเชิงบวกจากหลากหลายวิธีแต่พ่อแม่มีความคิดเชิงลบอยู่เป็นนิตย์ ก็จะเป็นเรื่องยากมากที่จะให้ลูกมีความคิดเชิงบวกได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรฝึกฝนตนเองโดย พยายามคิดเชิงบวกออกมาดัง ๆ ให้ลูกรับรู้ด้วย เช่น ในวันหนึ่งที่ฝนตกรถติด แทนที่พ่อจะหงุดหงิดพร่ำบ่นแต่พ่อหันมาพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับความสนใจของลูก และพ่อก็บอกลูกว่า “ดีจังที่รถติด วันนี้พ่อได้คุยกับลูกเป็นเรื่อง เป็นราวและก็รู้ว่าลูก…..”

ความคิดเชิงบวก เป็นเสมือนภูมิต้านทานทางใจที่สำคัญสำหรับเด็กทุกคน หากพ่อแม่ตระหนักและสนับสนุนให้ลูกแล้ว ก็เท่ากับว่าได้ให้ของขวัญอันมีค่ายิ่งกับลูก เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาในอนาคต เขาก็มีอาวุธสำคัญที่จะนำมาใช้กับอุปสรรคอันยุ่งยากนั้นได้

บทความโดย : นพ.จอม ชุมช่วย  จากคอลัมน์ Dotor’s note นิตยสาร Mother&Care

Categories: Meet Doctor
motherandcare: