Warning: Undefined array key "action" in /var/www/wp-content/themes/kicker-child/functions.php on line 2
ค้นหาสาเหตุทำไมลูกไม่อยากไปโรงเรียน ?
X

ค้นหาสาเหตุทำไมลูกไม่อยากไปโรงเรียน ?

โรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญในการฟูมฟักเด็กทั้งในเรื่องการศึกษา พัฒนาการ นิสัยใจคอ ตลอดจนคุณธรรมต่างๆ หากเด็กสามารถปรับตัวและเข้ากับโรงเรียนได้ดีก็จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้สามารถพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น แต่หากปรับตัวไม่ได้ ไม่ชอบโรงเรียนหรือปฏิเสธโรงเรียนก็เป็นเรื่องยากที่จะช่วยให้เด็กรับประโยชน์ในการไปโรงเรียนได้อย่างเต็มที่

มดเป็นเด็กหญิงวัย 11 ปี อยู่ชั้นป.6 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในรอบ 3 ปีนี้ย้ายโรงเรียนมา 3 แห่ง พูดง่าย ๆ คือ ปีละแห่ง พ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของโรงเรียนและมองว่า การที่มดปฏิเสธโรงเรียนเป็นเพราะโรงเรียนแต่ละแห่งอาจไม่เหมาะกับลูก ในเดือนสองเดือนแรกของการเปลี่ยนโรงเรียนดูเหมือนจะได้ผล แต่พอเข้าเดือนที่สามอาการเดิม ๆ ก็ปรากฏขึ้น คือ ตอนเช้า บ่นกระปอดกระแปดไม่อยากไปโรงเรียน ร้องไห้ ทุกเช้าแม่ไปส่ง ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะยอมลงจากรถ และยิ่งในปีนี้อาการต่าง ๆ ดูรุนแรงมากขึ้น มดขอโทรศัพท์เพื่อที่จะคุยกับแม่ได้ทุกเวลาที่รู้สึกไม่สบายใจขณะอยู่โรงเรียน ซึ่งก็ได้ผล แม่ให้โทรศัพท์ และมด ก็โทรหาแม่หลายครั้งในช่วงเวลากลางวัน ในที่สุดแม่รู้สึกว่า การย้ายโรงเรียนอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอีกต่อไป แม่จึงพามดมาพบหมอ

มดเป็นลูกคนแรกในลูกทั้งหมดสามคนของครอบครัว อีกสองคนเป็นลูกชายฝาแฝดวัย 9 ปี น้องชายทั้งสองอยู่โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง ตั้งแต่เล็ก มดมีความสนใจแตกต่างจากน้อง น้องทั้งสองมักเล่นด้วยกันและสนใจ อะไรคล้ายกัน ญาติพี่น้องปู่ย่าตายายรอบตัวสนใจน้องฝาแฝดเป็นพิเศษ มดรับรู้ความแตกต่างนี้มาตลอดแต่ก็ไม่ถึงขั้นอิจฉาหรือทะเลาะกับน้องมากนัก เพราะสามารถรับรู้ได้ว่าแม่ให้ความรักและความสนใจกับมดเป็นพิเศษ ในมุมมองของแม่ แม่รู้สึกสงสารที่ญาติผู้ใหญ่สนใจลูกชายทั้งสองอย่าง ออกนอกหน้า สำหรับพ่อนั้นก็ให้ความสนใจกับลูกทั้งสามพอๆ กัน นั่นคือ ห่างเหินอย่างเท่าเทียมกัน เพราะพ่อมักยุ่งแต่กับงานและกลับบ้านไม่ค่อยเป็นเวลา มีบ้างที่พ่อเข้ามาแต่มักเป็นการสอน การดุเสียมากกว่า จึงทำให้ลูกทั้งสาม ไม่ค่อยสนิทกับพ่อมากนัก

ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่นับได้ว่าไม่ค่อยราบรื่น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย ทั้งเรื่องระหว่างพ่อแม่เองซึ่ง ความเห็นไม่ค่อยลงรอยกัน ต่างฝ่ายต่างมองว่าความเห็นของตนเองถูกต้อง และในช่วงหลังนี้เอง พ่อก็มักต่อว่าแม่ว่าเป็นเหตุให้มดเอาแต่ใจตนเอง ตามใจแต่ลูก ลูกจะเอาอะไรก็ได้หมด ความเห็นนี้มีความจริงอยู่บ้าง แต่ส่วนหนึ่ง ที่แม่ต้องตามใจมด เพราะระยะหลังมดมีอาการหนักขึ้นจนแม่ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากการตามใจ

ครั้งแรกที่พบหมอ มดปฏิเสธที่จะพบหมอตามลำพัง ขอให้แม่เข้ามาด้วย ขณะที่คุยกับหมอ มดจะนั่งคลอเคลียกับแม่ตลอด มดบอกว่าเหตุที่ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะเบื่อโรงเรียน ครูสอนไม่สนุก แม้จะมีเพื่อนหลายคนในห้องเรียนแต่ก็เบื่อ เมื่อแม่พูดถึงเรื่องการโทรศัพท์หาแม่ มดอ้างว่าเบื่อก็เลยโทรหาแม่ แต่เมื่อหมอให้มดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพ่อแม่ มดทำหน้าแบะ “เบื่อพ่อ ไม่ชอบพ่อ ชอบบังคับ ชอบบ่นอยู่นั่นแหละ” มดเหลือบมามองแม่และพูดต่อ “แม่ก็ไม่ชอบพ่อเหมือนกันใช่ไหมล่ะ” “นั่นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่นะ” แม่ตอบและหันมามองหมอ “เรื่องของผู้ใหญ่แต่แม่ก็บ่นกับมดตลอดว่าพ่อไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้” มดพูดต่อทันทีไม่ทันให้แม่ตั้งตัว จากนั้นมดพูดโต้ตอบกับหมอ สรุปได้ว่า มดรับรู้ปัญหาระหว่างพ่อแม่มาตลอด มดสงสารแม่ บางครั้งแม่ดูเครียด เศร้า กังวลว่าแม่จะเป็นอย่างไร จึงหาทางออกโดยการคอยติดตาม คอยควบคุม นั่นก็คือที่มาหลักของการไม่อยากไปโรงเรียน และการคอยโทรศัพท์หาแม่อยู่ตลอด

กรณีของมดถือว่าเป็นความวิตกกังวลในเด็ก ซึ่งมีพื้นฐานจากความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างแม่ลูกแต่เจือปนด้วยความหวั่นไหว ไม่แน่ใจ เมื่อเกิดปัญหาระหว่างพ่อแม่ขึ้น และแม่เองแสดงความกังวล ความเศร้าใจ ให้ลูกรับรู้ ลูกจึงเกิดความเครียดขึ้นพ่อแม่สามารถช่วยมดได้โดยแก้ปัญหาระหว่างกัน ให้ลูกเห็นชัดเจนว่าปัญหาได้คลี่คลายไปแล้ว พ่อแม่ไม่ควรดึงลูกเป็นแหล่งระบายอารมณ์หรือที่พักพิงใจ แม่เองก็คงต้องได้รับการช่วยเหลือบรรเทาความเครียดของตนเองด้วย

การย้ายโรงเรียนคงไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้อีกต่อไป ควรยืนยันและสม่ำเสมอที่จะให้มดไปโรงเรียนทุกวัน อาจตกลงเวลาในการโทรศัพท์หาแม่ได้เฉพาะช่วงพักเที่ยง และค่อยๆ ลดลงเมื่อมดมีอาการดีขึ้น สำหรับการรับส่ง ควรชัดเจนและเที่ยงตรงในระยะแรก นอกจากนี้แล้วควรได้รับการบำบัด โดยการพูดคุยกับหมอและอาจต้องใช้ยาร่วมด้วยหากอาการยังไม่ดีขึ้นโดยเร็ว

การไม่ยอมไปโรงเรียนสำหรับเด็กแต่ละคนมี ความหมายที่แตกต่างกัน และครั้งนี้ปัญหาหลัก ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน หาก พ่อแม่พยายามที่จะแก้ที่ ตัวโรงเรียน ปัญหานั้นก็จะยังคงอยู่ แต่หากแก้ที่ต้นตอแล้วเชื่อได้ว่า ไม่ช้าก็เร็ว ที่ปัญหานั้นจะเบาบางลงไปจนกลายเป็นความสุข ของเด็กและครอบครัว ในที่สุด

บทความโดย : นพ.จอม ชุมช่วย  จากคอลัมน์ Dotor’s note นิตยสาร Mother&Care

Categories: Meet Doctor
motherandcare: