Warning: Undefined array key "action" in /var/www/wp-content/themes/kicker-child/functions.php on line 2
ป้องกันเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ !
X

ป้องกันเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ !

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ข่าวพ่อของเด็กที่ถูกวัยรุ่น 5 คนรุมโทรมระงับอารมณ์ไม่อยู่ทำร้ายร่างกายผู้ก่อเหตุ  เนื่องจากญาติผู้ก่อเหตุที่อ้างตัวว่าเป็นอบต.พยายามจ่ายเงินโดยไม่ต้องแจ้งความ ยังมีมีตำรวจช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้เรื่องจบ สร้างความโกรธแค้นให้กับคนในสังคม และรู้สึกสะใจเมื่อผู้ทำผิดโดนพ่อเหยื่อทำร้ายเอาคืนบ้าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกครั้งที่มีข่าวคราวเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน สะเทือนความรู้สึกคนเป็นพ่อเป็นแม่และทุกคนในสังคม  มีคำถามว่าเมื่อไหร่ปัญหานี้จะหมดไป แล้วเราจะปกป้องเด็ก ๆ ของเราอย่างไร

ไทยติดอันดับ 10 โลกคดีข่มขืน

  • ไทยติดอันดับ 10 ของโลกจากการคำนวณจำนวนคดี แต่ถ้าคำนวณจากอัตราเฉลี่ยคดีต่อประชากรหญิงจะติดอันดับ 29 ของโลก
  • รายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติล่าสุด สถิติคดีข่มขืนในไทย พ.ศ. 2552-2556 เฉลี่ยปีละ 4,000 คดี ซึ่งหมายความว่ามีเหตุเกิดขึ้นทุก 2 ชั่วโมง ตำรวจจับได้ปีละ 2,400 คดี
  • แต่ข้อมูลจากศูนย์พัฒนาข้อมูลกระบวนการยุติธรรมสำนักงานกิจการยุติธรรมรายงานว่าคดีข่มขืนเกิดขึ้นจริงมากกว่า 30,000 ดีต่อปี เท่ากับว่าเกิดขึ้นทุก ๆ 15 นาที
  • คดีข่มขืนที่ไม่ได้แจ้งความมีถึง 87%
  • สถิติเรื่องราวร้องทุกข์ข่มขืนอนาจารผ่านมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี  ปี 2558 มี 658 ราย  ปี 2559  มี 681 ราย  และเหยื่ออายุต่ำสุด 1 ปี 5 เดือน
  • นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าคดีข่มขืน สาเหตุหนึ่งอาจมาจากผู้ก่อเหตุซึมซับความรุนแรงผ่านสังคมออนไลน์ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นก็ระบายความรุนแรงที่สะสม โดยกระทำต่อผู้อื่น

น่าคิด

  • ตัวเลขจำนวนผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่ารายงานในสถิติ เพราะเหยื่ออับอายจึงไม่กล้าเล่า ไม่กล้าแจ้งความ หรือกลัวผู้กระทำผิดที่มีอำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือเป็นผู้มีอำนาจมีอิทธิพลมากกว่าก็ตาม
  • โพลสำรวจสถิติปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทยในปัจจุบันที่ควรได้รับการแก้ไขจากนิด้าโพล พบปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราทางเพศเกิดขึ้น 34.64 เปอร์เซ็นต์ มีการให้ความคิดเห็นหนึ่งจากประชาชนก็คือ ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา เป็นตัวบอกอย่างหนึ่งว่าประชาชนไม่เชื่อใจในการใช้กฎหมายลงโทษผู้ทำผิด

คนร้ายมักจะเป็นใคร ?

คนร้ายในความเข้าใจโดยทั่วไปมักจะมีหน้าตาเป็นโจรผู้ร้ายโหดเหี้ยม หรือมีท่าทางไว้ใจไม่ได้ แต่จากสถิติคดีต่าง ๆ ผู้ก่อเหตุเกินกว่าครึ่งเป็นคนแปลกหน้า และอีกครึ่งหนึ่งเป็นคนคุ้นเคย คนรู้จัก รวมทั้งคนในครอบครัวค่ะ

จะมีบุคลิกอบอุ่นอ่อนโยนใจดีแค่ไหนก็เป็นผู้ร้ายได้ *จึงไม่ควรไว้วางใจใครถึง 100 % ควรพูดคุยกับลูกให้เขาเล่าความเป็นไปแต่ละวัน ฟังเขาเล่าไม่ขัดแย้ง และสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเด็ก

หน้าที่ในการปกป้องเด็ก ๆ ของเรา

  • คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกให้พูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ให้เป็นการคุยเล่นในบรรยากาศสบาย ๆ มาตั้งแต่เขายังเล็ก  เช่น ตอนคุณแม่ไปทำงานแล้วลูกอยู่บ้านทำอะไรบ้าง ตอนลูกไปโรงเรียนทำอะไรบ้าง ปล่อยให้ลูกเล่าอย่างอิสระ แล้วพูดคุยกับเขา ไม่ให้เป็นการรายงานประจำวันที่เคร่งเครียดจริงจัง
  • ฝึกลูกให้รู้จักบอกเล่าเกี่ยวกับความรู้สึก กลัว โกรธ เสียใจ เจ็บ ฯลฯ เช่น รู้สึกอย่างไรกับเหตุการนั้น ๆ รู้สึกอย่างไรกับคน ๆ นั้น เขาทำอะไรถึงรู้สึกอย่างนั้น
  • ฝึกลูกให้เรียนรู้ถึงลักษณะของ สถานที่ เวลา และคน
  • ทำความรู้จักกับคุณครู เพื่อนร่วมห้องของลูก และคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน
  • ถึงจะไม่ใช่พ่อแม่ของเด็กก็อย่าเพิกเฉย ช่วยกันปกป้องเด็ก ๆ  ได้ เมื่อพบเหตุการณ์หาวิธีเข้าไปช่วยเหลือและติดต่อขอความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือหน่วยงาน บอกพ่อแม่เด็ก 

วิธีสอนลูกปกป้องตัวเอง

  1. สอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องอวัยวะเพศตั้งแต่เล็ก สอนเรียกอวัยวะเพศตอนอาบน้ำ ใช้ชื่อง่าย ๆ ที่เด็กเข้าใจ เช่น จู๋ จิ๋ม สอนไม่ให้ใครมาสัมผัสส่วนนี้ ยกเว้นพ่อแม่ และเมื่อโตอายุเท่าไหร่ห้ามใครสัมผัสหรือเห็น หน้าอก และอวัยวะเพศ
  2. สอนลูกว่าต้องใส่เสื้อผ้าปกปิดส่วนสงวนไม่ให้ใครเห็น ยกเว้นพาไปหาหมอตรวจร่างกายมีพ่อแม่อยู่ด้วย
  3. สอนลูกว่าไม่ให้ใครก็ตาม ทั้งคนแปลกหน้าและคนสนิท  สัมผัสร่างกายทุกส่วนที่อยู่ภายใต้ชุดว่ายน้ำ ซึ่งหมายถึงชุดว่ายน้ำของเด็กแบบวันพีชเต็มตัว
  4. สอนลูกว่าห้ามใครมาหอม จูบปาก จับแก้ม บอกว่าพ่อแม่ไม่ให้ทำ สอนให้สื่อสารด้วยท่าทีสุภาพแต่ชัดเจน
  5. ให้บอกพ่อแม่ถ้ามีใครมาขอดู จับ หอม จูบปาก จับแก้ม หรือทำให้เขาอึดอัดใจ ให้ความมั่นใจกับลูกว่าพ่อแม่ปกป้องได้ไม่ต้องกลัวหากถูกขู่
  6. สอนว่าถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือรู้สึกแปลก ๆ ไม่ต้องกลัวหรือเกรงใจ  ให้วิ่งหนี หรือขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่
  7. ให้ลูกพกนกหวีดติดตัวไปข้างนอกสำหรับเป่าเพื่อขอความช่วยเหลือ อยู่บ้านต้องฝึกใช้กันก่อนด้วยนะคะ

สังเกตอาการเด็กถูกล่วงละเมิด

หากใกล้ชิดลูกคุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตอารมณ์หรือพฤติกรรมลูกที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกได้ง่ายค่ะ เด็กจะมีอาการดังต่อไปนี้ 

  • ซึมลง กลัว  ขี้ตกใจ
  • นอนไม่หลับ ฝันร้าย
  • มีแผล หรือฟกช้ำตามร่างกาย
  • ก้าวร้าว
  • หวาดระแวงผู้ใหญ่

จะทำอย่างไรหากเด็กถูกล่วงละเมิด

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กให้คำแนะนำว่า 

1.เมื่อเด็กแสดงท่าทีว่าต้องการเล่าเรื่องราวที่เขารู้สึกว่าเป็นปัญหา หรือขอความช่วยเหลือ ควรพร้อมรับฟังทันที  เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าเขามีใครให้พึ่งพิงได้

2.แม้เรื่องราวที่เล่าจะร้ายแรงจนเหลือเชื่อ ควรรับฟังอย่างสงบ

  • การแสดงอาการตกใจ โกรธหรือเสียใจ เด็กจะหยุดเล่า เพราะไม่มั่นใจว่าจะสามารถช่วยเหลือเขาได้ และอาจทำให้เด็กกลัวว่าจะเดือดร้อนมากขึ้น

3.ถ้าเด็กไม่สามารถบอกเล่าได้อย่างต่อเนื่อง คอยปลอบโยน ให้กำลังใจ ให้เด็กสบายใจว่าถ้าเล่าออกมาให้หมดเขาจะปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือ 

4.อย่าโต้แย้ง เพราะจะทำให้เด็กคิดว่าเราไม่เชื่อ ไม่รับฟัง ปล่อยให้เล่าก่อน แล้วค่อยถามรายละเอียด ที่ต้องการ

5.ไม่ต้องคาดคั้นตัวผู้กระทำ แต่สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกกระทำ เพื่อกำหนดวงผู้ต้องสงสัย และรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำหรือความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็ก

  • การทราบว่าผู้กระทำเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องให้เด็กระบุตัวหรือบอกชื่อเสมอไป

6.วิเคราะห์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ หากไม่จริงรายละเอียดในการเล่าแต่ละครั้งจะไม่ตรงกัน ไม่ปะติดปะต่อ อาจเป็นเรื่องจริงก็ได้แต่เด็กยังสื่อสารไม่เป็น หรือจิตใจยังกระทบกระเทือน  ค่อย ๆ ฟังและจับเรื่องราวต่าง ๆ มาวิเคราะห์

7.แจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยหลือ หรือแจ้งตำรวจหากรู้ตัวผู้กระทำ

8.รวบรวมหลักฐานการถูกล่วงละเมิด เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิด สิ่งของ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพร่องรอยการกระทำไว้เป็นหลักฐาน 

9.พาเด็กไปตรวจรักษา 

  • ห้าม ! ชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจ เพราะจะทำให้ไม่พบร่องรอยที่จะเป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำ หากเหตตุการณ์ผ่านผ่านมาหลายวันแล้ว ควรตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคติดต่อและตรวจสอบ การตั้งครรภ์นอกจากนี้จะต้องดูแลความรู้สึกของเด็ก และควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเยียวยาจิตใจของเด็กค่ะ

เบอร์โทรศัพท์ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ

  • สถานีตำรวจ 191
  • กองคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนกรมตำรวจ  252-3892-3
  • มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ)
  • ศูนย์ประชาบดี  1300
  • โรงพยาบาลของรัฐ. 1669-มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร 0-2513-1001
  • มูลนิธิผู้หญิง  โทร 0-2433-5149 , 0-2434-6774
  • มูลนิธิมิตรมวลเด็ก 0-2245-9904, 0-2245-8072-
  • มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี 1134
  • สภาทนายความ  โทร 0-2629-1430

ข้อมูลอ้างอิง 

  • www.khaosodd.com
  • www.thaichildrights.org/
  • news.ch3thailand.com
  • www.thairath.co.th
  • www.dmh.go.th
  • www.facebook.com/kendekthai
  • nidapoll.nida.ac.th




motherandcare:
Related Post