Warning: Undefined array key "action" in /var/www/wp-content/themes/kicker-child/functions.php on line 2
หน้าฝนระวังลูกป่วย โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina)
X

หน้าฝนระวังลูกป่วย โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina)

ช่วงหน้าฝนมีโรคที่คุณแม่ต้องระวังอีกโรคหนึ่ง นั่นก็คือโรค เฮอร์แปงไจนา (Herpangina) เรามาสังเกตอาการ วิธีป้องกันและวิธีการรักษากันค่ะ

อาการชวนสงสัย

มีไข้สูงประมาณ 39.5-40 องศาเซลเซียส มีแผลในปากอาจจะมีตุ่มแดงหรือแผลเปื่อยบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในคอ มีอาการเจ็บคอ บางรายอาจมีอาการไข้เฉียบพลันหรือมีไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดคอ คอบวม ปวดท้อง เบื่ออาหาร อาจมีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง เบ้าตาลึกลง ปัสสาวะน้อยหรือสีเข้ม ฯลฯ เด็กทารกอาจมีอาการน้ำลายยืดหรืออาเจียน ถ้ามีอาการไข้ 3 วันแล้วยังไม่ลด ลูกซึมหรืออาการแย่ลงควรรีบพาไปพบคุณหมอค่ะ 

ไม่ต้องตกใจจนเกินไป

เฮอร์แปงไจนาเป็นโรคที่ติดเชื้อในกลุ่มเอนเตอโรไวรัส (Enterovirus)  โดยทั่วไปแล้วโรคนี้ไม่ใช่โรคที่รุนแรงมาก เมื่อเป็นแล้วอาจหายเองได้ภายในราว 7 วัน แต่คุณพ่อคุณแม่คอยระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการหายใจหอบ อาการชัก หรือเจ็บคอจนลูกกินอาหารไม่ลงอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและอาหาร ฯลฯ

ติดโรคนี้มาจากไหน ?

เด็กเล็กมีภูมิต้านทานค่อนข้างน้อย จึงรับเชื้อมาจากเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระที่มีเชื้อเฮอร์แปงไจนา มักพบเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบเป็นโรคนี้ โดยติดมาจากการอยู่รวมกันในเนอสเซอรี่หรือโรงเรียน เด็กมักหยิบจับสิ่งของร่วมกันอาจจะเป็นของเล่นหรือของใช้ต่าง ๆ

ดูแลเมื่อลูกป่วย

ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสตัวนี้ คุณหมออาจรักษาด้วยการให้ยาลดไข้ ให้ยาทาแผลในปาก หรือให้ยาชาเพื่อลดอาการเจ็บปวด -ถ้าลูกมีอาการเจ็บคอกินอาหารไม่ลง เตรียมอาหารอ่อน ๆ อย่างข้าวต้ม โจ๊ก หรือซุปให้ลูก 

  • ให้ลูกดื่มน้ำ นม หรือน้ำผลไม้เย็น ๆ  หรือจะหม่ำไอศกรีมก็ได้ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและลดอาการเจ็บคอ ซึ่งเด็ก ๆ น่าจะชอบ
  • เลี่ยงอาหารระคายคอหรือทำให้แสบคอ เช่นน้ำผลไม้อย่างส้มหรือมะนาว

วิธีป้องกัน

  1. ช่วงที่ทราบข่าวคราวของโรค อาจสอบถามคุณครูว่ามีเด็กป่วยบ้างหรือไม่
  2. ช่วงที่โรคนี้ระบาดเลี่ยงการรับเชื้อ พยายามไม่พาลูกไปในที่มีคนมาก ๆ อย่างห้างสรรพสินค้าฯ หรือสนามเด็กเล่น
  3. ถ้าลูกป่วยควรให้หยุดเรียนก่อนจะได้ไม่ต้องรับเชื้อโรค และไม่แพร่เชื้อที่กำลังป่วยอยู่
  4. สอนให้ลูกรู้จักวิธีล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด และเห็นความสำคัญของการล้างมือ  ทั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำแล้ว

ในวัยเข้าเรียนการอยู่ร่วมกับเด็กอื่นทำให้ลูกมีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย การดูแลให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง ให้เขาได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนพอเพียงก็จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีอีกทางหนึ่งค่ะ

อ้างอิง

  • www.stanfordchildrens.org
  • www.urmc.rochester.edu
  • www.medicalnewstoday.com
motherandcare:
Related Post