Warning: Undefined array key "action" in /var/www/wp-content/themes/kicker-child/functions.php on line 2
คุยกับลูกอย่างไรให้รู้เรื่อง ?
X

คุยกับลูกอย่างไรให้รู้เรื่อง ?

[vc_row][vc_column][vc_column_text]ปัญหาหนักใจอย่างหนึ่งของพ่อแม่ที่มักจะมาปรึกษาหมอบ่อย ๆ ก็คือเรื่องการสื่อสารกับลูก ส่วนใหญ่ถ้าอยู่ในช่วงที่อารมณ์ดีกันทั้งคู่ มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต่างเครียด หรือมีปัญหาที่เกิดกับลูก พ่อแม่ก็ต้องเป็นห่วง มีความกังวลเป็นธรรมดา

หลาย ๆ ครั้งด้วยความรักและเป็นห่วงลูก แต่พ่อแม่แสดงความหงุดหงิดไม่พอใจ ลูกอาจไม่เข้าใจ กลายเป็นความขัดแย้ง

หมอจึงอยากจะแนะนำเทคนิคในการพูดโน้มน้าวใจลูกและพร้อมเปิดใจกับพ่อแม่

อย่างแรกคือ สร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยกัน จัดการกับอารมณ์ของพ่อแม่ก่อน  ลองจินตนาการถึงตอนที่พ่อแม่กำลังเป็นห่วง กังวล หรือ โกรธ เวลาที่พูดกับลูก เสียงพ่อแม่ก็จะดัง ลูกอาจจะฟังพ่อแม่อยู่ แต่ฟังด้วยความกลัวบ้าง โกรธบ้าง บางทีลูกก็อาจจะพูดแรงกลับมา ลงท้ายก็กลายเป็นคุยกันไม่รู้เรื่อง

ดังนั้นเวลาที่เรามีอารมณ์ความรู้สึกที่ท่วมท้นทั้งสองฝ่าย ควรให้เวลาตัวเองและลูกอารมณ์เย็นลงสักพักก่อนแล้วค่อย ๆ คุยกัน

บางทีที่พ่อแม่ก็อยากจะบอกความต้องการของพ่อแม่ระหว่างที่คุยกัน แต่ก็อย่าลืมรับฟังลูก แสดงให้เขาเห็นว่าพ่อแม่เข้าใจ เอาใจใส่เขา

ยกตัวอย่าง เช่น ครูโทรมาบอกแม่ว่าลูกไปตีเพื่อนที่โรงเรียน ถึงแม้ว่าแม่จะรู้สึกตกใจ โกรธ แต่ก็พยายามระงับอารมณ์ และคุยกับลูกว่า “แม่ได้ยินมาว่าลูกตีเพื่อนที่โรงเรียน แม่อยากฟังจากลูกด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น” แล้วให้เขาเล่าเรื่องให้เราฟัง ช่วงที่เด็กเล่าเรื่อง แม้ว่าอยากแสดงความเห็นก็อย่าเพิ่งแทรกหรือขัด เพราะอาจจะทำให้เด็กหยุดพูดไปเลย เพราะรู้สึกว่าแม่ไม่รับฟัง ไม่เข้าใจ หรือไม่ก็คิดว่าแม่มีธงของแม่ในใจแล้ว  เช่น ลูกเล่าว่า “เพื่อนมาว่าลูกว่าไอ้หน้าจืด ไอ้เหยิน ลูกก็เลย…”  แล้วแม่ก็ขัดว่า “อ๋อ ลูกเลยไปตีเค้า ทำไมล่ะลูก แม่บอกแล้วว่าไม่ให้ใช้ความรุนแรง เพื่อนจะว่าก็ช่างเขาสิ

ลองนึกถึงใจลูกว่า ถ้าหากเป็นลูกแล้วพ่อแม่มาพูดแบบนี้ แม้จะทราบว่าพ่อแม่เป็นห่วงและหวังดี แต่ลูกก็อาจรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจเขาเลย แทนที่จะขัด ให้พ่อแม่อดทนฟัง ใช้เทคนิค พยักหน้ารับ พูดแสดงความสนใจเป็นคำสั้น ๆ เช่น “อืม…จ้ะ…แล้วยังไงต่อลูก…” อย่าลืมฟังให้มาก ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจ รับฟัง ทำให้เกิดความสบายใจ เครียดน้อยลง แนวโน้มที่จะรับฟังพ่อแม่ต่อมาก็จะมากขึ้น ช่วงที่ลูกเล่าให้พ่อแม่ฟัง แม้ว่าพ่อแม่จะไม่เห็นด้วย หรืออยากแนะนำลูกใจจะขาด ก็ขอให้อดทนฟังลูกก่อน

เทคนิคอีกอย่างที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจเขา และทำให้เขาอยากพูดเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้มากขึ้นก็คือ หลักการสะท้อนอารมณ์และความรู้สึก เช่น ลูกเล่าว่า “เพื่อนมาว่าลูกว่าไอ้หน้าจืด ไอ้เหยิน ลูกก็เลยตีไปทีหนึ่ง ดันร้องไห้ไปฟ้องครู ทั้งที่มาว่าลูกก่อน ครูหาว่าลูกตีเพื่อน”

ช่วงนี้เราก็พูดสะท้อนอารมณ์ลูก เช่น “ลูกคงจะโกรธและไม่ชอบใจที่เพื่อนมาว่าลูกแรง ๆ แบบนั้น” ลูกก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจเขา พยายามเลือกคำพูดสะท้อนอารมณ์ที่ตรงใจลูก เทคนิคนี้จะช่วยเปิดใจลูกได้มาก ลูกก็จะเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าเล่าแล้วมีคนฟัง มีคนเข้าใจ

เวลาที่พูดกับลูกเพื่อสื่อสารความต้องการและความรู้สึก พยายามใช้หลักการที่เรียกว่า “I” message คือ การบอกความต้องการ ความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถสื่อสารความต้องการของเราออกไปได้ตรงไปตรงมาที่สุด ยกตัวอย่างเช่น “แม่ได้ยินเรื่องนี้แล้วรู้สึกเป็นห่วงลูก แม่อยากช่วยกันคิดกับลูกว่า คราวหน้าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ลูกจะทำอย่างไร”

แม้ว่าพ่อแม่อาจจะมีเป้าหมายในใจว่าเราอยากให้ลูกทำแบบนั้น แบบนี้ แต่ใจเย็น ๆ สักนิด ลองให้ลูกหาวิธีแก้ไขด้วยตัวเองก่อน เพื่อที่เขาจะได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหา การที่จะบอกให้ทำแบบนั้นแบบนี้ตรง ๆ อย่างไรก็สู้แรงจูงใจที่เกิดจากการตัดสินใจร่วมกันไม่ได้ พ่อแม่อาจจะค่อย ๆ ชี้แนะ และบางทีก็ลองให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง ความเข้าใจร่วมกันก็จะเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเกินไปนัก

 

บทความโดย หมอมินบานเย็น

คอลัมน์ Doctor’s note นิตยสาร Mother&Care[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]

motherandcare:
Related Post