Warning: Undefined array key "action" in /var/www/wp-content/themes/kicker-child/functions.php on line 2
ปรับอารมณ์-ชีวิตเปลี่ยน
X

ปรับอารมณ์-ชีวิตเปลี่ยน

คุณพ่อคุณแม่ทราบกันหรือไม่ว่า “ความมั่นคงทางอารมณ์” ของคุณพ่อคุณแม่นั้น ส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงทางอารมณ์เมื่อต้องรับมือกับความผิดหวังหรือเรื่องที่ไม่ได้ดังใจ เคยสังเกตตัวเองกันบ้างไหมว่า เวลาที่เราต้องรับมือกับความไม่ได้ดั่งใจ เวลาที่ลูกดื้อ เวลาที่ลูกไม่เชื่อฟัง เราจัดการกับเหตุการณ์นั้นด้วยอารมณ์แบบใด 

การรับมือกับความผิดด้วยความโกรธ 

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่รับมือกับความผิดของลูกด้วยอารมณ์โกรธและการลงโทษโดยปราศจากการสื่อสารที่ดี เมื่อเราโกรธลูก สิ่งที่สะท้อนกลับหรือผลลัพธ์ที่ได้จากลูกคือการต่อต้าน เราจะเห็นได้ว่าเมื่อพ่อแม่เสียงดัง ลูกมักจะอาละวาดและเสียงดังตามไป ยิ่งลูกเสียงดัง อารมณ์โกรธของคุณพ่อและคุณแม่ยิ่งพุ่งขึ้นถึงขีดสุด หลายครั้งจึงจบลงด้วยการตีหรือการทำให้ลูกหวาดกลัว แม้ว่าสุดท้ายพ่อแม่อาจจะบังคับหรือยุติพฤติกรรม ณ ขณะนั้นของลูกได้ แต่ในระยะยาวเรากลับพบว่า การรับมือกับความผิดของลูกด้วยอารมณ์โกรธนั้น ไม่ได้ช่วยเสริมพัฒนาการหรือวินัยในตนเองให้แก่เด็กๆเลย แล้วเราควรทำอย่างไร เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ 

พ่อและแม่ควรเข้าหาลูกด้วยความเข้าใจ = เปิดให้โอกาสเด็กๆคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ

คุณพ่อและคุณแม่ควรหันมาปรับอารมณ์ของตนเองให้เย็นและมั่นคงขึ้น เมื่อลูกทำผิด จากเดิมที่เข้าหาด้วยความโกรธตำหนิติโทษ ลองแปรเปลี่ยนเป็นการเข้าหาลูกด้วยท่าทีที่เป็นมิตร เข้าอกเข้าใจ และพร้อมจะแนะนำหรือเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดวิเคราะห์สิ่งที่ต้องทำด้วยตนเอง เช่น เมื่อลูกไม่ยอมเก็บของเล่นเข้าที่และมันระเกะระกะเต็มบ้าน ลองปรับเปลี่ยนจากการดุลูก “รีบเก็บเดี๋ยวนี้เลยนะ ไม่งั้นแม่จะทิ้งให้หมดไม่ต้องเล่นอีกแล้ว” ซึ่งเป็นการเข้าหาด้วยความโกรธและตำหนิติโทษ เป็น “แม่รู้ว่าลูกกำลังสนุกมากและมันยากมากที่ต้องหยุดเล่นตอนนี้ (เข้าใจความรู้สึก) แต่มันหมดเวลาแล้วล่ะ (บอกสถานการณ์ หรือโจทย์) ลูกคิดว่าเราจะทำยังไงดีกับของเล่นนี่ (กระตุ้นให้คิดวิเคราะห์) ” หรือ “เล่นมันสนุกมากเลยเนาะ (เข้าใจความรู้สึก) รกเต็มบ้านขนาดนี้ (บอกสถานการณ์) เราทำยังไงกันดีคะ (กระตุ้นให้คิด ตัดสินใจ) ” 

แม้ว่าในบางครั้ง คำตอบที่ได้จากลูกจะไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง เช่น เขายอมเล่นแทนที่จะไปทานมื้อเย็น ขอให้คุณพ่อคุณแม่ตอบรับการตัดสินใจนั้นด้วยความใจเย็น และให้เขาได้ลองรับผลจากการตัดสินใจของตนเอง เช่น ยอมเล่นไม่ยอมทานมื้อเย็น ต้องยอมทนหิว ไม่ยอมเก็บของเล่นเพราะอยากไปดูทีวี ต้องยอมให้พ่อแม่ยกของเล่นนั้นไปเก็บหรืองดเล่นอีกต่อไป แน่นอนว่าลูกจะต้องฟูมฟาย โวยวาย ซึ่งพ่อและแม่ต้องมั่นคงในอารมณ์เพียงพอที่จะไม่โกรธ และไม่ใจอ่อน การกระทำเช่นนี้ จะทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ไม่ได้โกรธเขา เพียงแต่เขากำลังรับผลจากการตัดสินใจของตนเอง และเป็นการสอนให้เขาเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อตนเองต่อไป โดยไม่ต้องเสียบรรยากาศดีดีในบ้าน 

Categories: Knowledge
motherandcare:
Related Post